สทร. ร่วมกับ JR Freight ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU)ยกระดับเทคโนโลยีระบบรางพร้อมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมระบบราง
วันนี้ (19 ตุลาคม 2566) นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้ นายมนตรี เดชาสกุลสม ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทน รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานและสักขีพยาน ร่วมกับนายทาซากะ ทาคุโระ (Mr. TASAKA Takuro) อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบราง รวมถึงการร่วมพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมระบบราง ระหว่างสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. ร่วมกับ Japan Freight Railway Company (JR Freight) ณ โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส หลานหลวง กรุงเทพฯ โดยมี นายสันติ เจริญพรพัฒนา ผู้อำนวยการ สทร. และนายโคกุเร คาซึฮิสะ (Mr KOGURE Kazuhisa) ประธานกรรมการผู้จัดการ Railway Logistics Headquarters บริษัท JR Freight เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
นายมนตรี เดชาสกุลสม ผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งมั่นในการบริหารประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ซึ่งกำหนดกรอบทิศทางการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศให้เดินหน้าไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ควบคู่ไปกับแผนยุทธศาสตร์และนโยบายของกระทรวงคมนาคม “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ภายใต้การนำของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และการลงนามฯ ครั้งนี้ สืบเนื่องจากปฏิญญาแสดงเจตจำนงการดำเนินความร่วมมือด้านคมนาคมขนส่งไทย-ญี่ปุ่น ที่กระทรวงคมนาคมของประเทศไทยได้ลงนามร่วมกับกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวญี่ปุ่น (MLIT) ณ วันที่ 7 ธันวาคม 2565
โดยประเทศไทยได้ให้ความสำคัญและมีการดำเนินกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง MOU ระหว่าง สทร. ร่วมกับ JR Freight ได้จัดอยู่ในแนวทางความร่วมมือที่เกิดจากปฏิญญาดังกล่าว ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญและเป็นโอกาสในการพัฒนาองค์ประกอบสำคัญของระบบนิเวศในอุตสาหกรรมระบบรางไทย ทั้งในด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาระบบมาตรฐานและการทดสอบ และการพัฒนากำลังคนเฉพาะทางที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมระบบราง เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองในด้านเทคโนโลยี และบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี
ด้าน นายสันติ เจริญพรพัฒนา ผู้อำนวยการ สทร. กล่าวถึงภาระกิจสำคัญในฐานะหน่วยงานวิจัยและพัฒนาภายใต้การกำกับของกระทรวงคมนาคม เพื่อพัฒนาการเชื่อมต่อแบบบูรณาการร่วมกับรูปแบบการเดินทางทั้งหมดตามแนวนโยบายการส่งเสริมให้การคมนาคมขนส่งทางรางเป็นโครงข่ายการเดินทางหลักของประเทศ จึงทำให้ สทร. มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีสนับสนุนการพัฒนาระบบรางตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวงฯ ตลอดจนมีหน้าที่สำคัญในการวางยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีระบบรางที่เหมาะสมต่อบริบทของประเทศ โดยความร่วมมือกับ JR Freight ในครั้งนี้ จะนำไปสู่การทำงานร่วมกันเป็นรูปธรรมในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่
1) การวิจัยและพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยีที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจากการเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมและส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางที่เน้นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีระบบรางที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับการพัฒนายุคใหม่ของประเทศไทย
2) ด้านการผลิตและพัฒนาบุคลากรระบบราง ยกระดับความรู้และทักษะของบุคลากรระบบรางเพื่อตอบโจทย์ความต้องการจากภาคอุตสาหกรรม ผ่านการดำเนินการพัฒนาหลักสูตรและจัดฝึกอบรมร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและมาตรฐาน รวมถึงการขับเคลื่อนนโยบายการขนส่งทางรางของประเทศ
3) สร้างอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนระบบรางภายในประเทศ หรือ Local Content ที่เป็นหนึ่งในเป้าหมายของกระทรวงคมนาคม ในการสนับสนุนการสร้างพื้นที่อุตสาหกรรมที่ทรงพลังและแข็งแกร่งภายในประเทศ โดยทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจและการแข่งขันในตลาดโลกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน นายโคกุเร คาซึฮิสะ ประธานกรรมการผู้จัดการ Railway Logistics Headquarters บริษัท JR Freight กล่าวถึงการพัฒนาธุรกิจในต่างประเทศถือเป็นหนี่งในยุทธศาสตร์สำคัญในแผนการบริหารระยะกลางและวิสัยทัศน์ระยะยาว โดยในปี พ.ศ. 2564 ได้มีการจัดตั้งสำนักงานผู้แทนในกรุงเทพฯ และที่ผ่านมาได้มีความมุ่งมั่นในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสนับสนุนกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยในการจัดสำรวจเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าทางรางในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยว ญี่ปุ่น ทั้งนี้ นายโคกุเร ได้กล่าวเสริมถึงการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือที่สอดคล้องกับ Brand Message ของบริษัท “Challenge and Change” ที่มุ่งเน้นการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม และถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาธุรกิจต่างประเทศ รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของสังคมไทย
การผนึกกำลังภายใต้ “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ Collaboration in Advancing Rail Technology and Supporting Railway Industry” ในครั้งนี้ จึงเป็นหมุดหมายสำคัญในการพัฒนาและใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาเป็นเครื่องมือในการยกระดับอุตสาหกรรมราง เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาระบบรางของประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และส่งเสริมบทบาทของไทยในการเป็นศูนย์กลางของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ตลอดจนนำพาระบบรางของประเทศไปสู่อนาคตที่มั่นคง ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม